หิวตอนกลางคืนบ่อย ติดกินมื้อดึกประจำ สงสัยกำลังป่วย Night Eating Syndrome


Night eating syndrome คืออะไร อยากให้คนที่มักจะหิวตอนดึก ชอบกินตอนกลางคืนบ่อย ๆ รู้ไว้ เพราะคุณอาจป่วยด้วยโรคนี้อยู่ก็ได้

          ถ้าคุณมักจะรู้สึกหิวตอนดึกบ่อย ๆ และมักจะปล่อยให้ตัวเองกินมื้อดึกก่อนเข้านอนเป็นประจำ เคสนี้บอกเลยว่าสุขภาพของคุณค่อนข้างน่าเป็นห่วงเลยนะคะ เพราะการกินมื้อดึกไม่ได้ทำให้อ้วนขึ้นอย่างเดียว แต่อาจเกี่ยวกับโรค Night eating syndrome ด้วย


Night eating syndrome คืออะไร

          Night eating syndrome คือ อาการที่คล้ายอาการกินผิดปกติ (Eating Disorder) แต่ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว โดยผู้ป่วยจะรู้สึกหิวและอยากกินอาหารในช่วงเวลากลางคืน แม้จะนอนหลับไปแล้วแต่ก็อาจสะดุ้งตื่นมากินอาหารหรือขนมในตอนดึกได้ บางคนอาจสะดุ้งตื่นมาเพื่อกินขนมถึง 3-4 รอบ เพราะรู้สึกว่าถ้าไม่กินมื้อดึกก็อาจนอนไม่หลับ ทั้ง ๆ ที่ตอนเช้าหรือระหว่างวันจะไม่ค่อยรู้สึกหิวหรืออยากกินอาหารสักเท่าไร

          ทั้งนี้การศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร American Medical Association ก็ระบุว่า ผู้ป่วยโรค Night eating syndrome มักจะรู้สึกหิวและอยากกินอาหารในช่วงเวลาหลัง 18.00 น. เป็นต้นไป และจากกลุ่มทดลองก็พบว่าผู้ป่วยมักจะบริโภคอาหารได้มากกว่า 3 เท่าของที่กินมาทั้งวัน โดยพลังงานจากอาหารที่ได้รับในช่วง 18.00-20.00 น. คิดเป็น 56% ของแคลอรีที่ร่างกายได้รับทั้งหมด ในขณะที่อาสาสมัครที่ถูกควบคุมอาหาร มีอัตราบริโภคในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 15% ของแคลอรีที่ร่างกายได้รับทั้งหมดเท่านั้นเอง
 
          อย่างไรก็ตาม Night eating syndrome (NES) เป็นความผิดปกติที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อปี 1955 โดย Albert Stunkard นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่ค้นพบว่าคนไข้ของเขาที่มีน้ำหนักตัวเกิน มักจะมีพฤติกรรมไม่รู้สึกหิวตอนเช้า ๆ และระหว่างวัน แต่จะมีพฤติกรรมกินหนักมากหลังมื้อเย็น เรียกว่ากินเก่งตอนกลางคืน จนเป็นเหตุที่ทำให้อ้วนขึ้น คุณหมอเลยตั้งชื่อให้อาการติดกินดึกว่า Night eating syndrome และเริ่มศึกษาอาการดังกล่าวมาจนทุกวันนี้




          จากหลักฐานทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยโรค Night eating syndrome ส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับผู้ป่วยโรคจิตเวช มีปัญหาเสพติดอะไรบางอย่าง และทำจนเคยชินกับพฤติกรรมนั้น ๆ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของฮอร์โมน ระดับเมลาโทนิน และผู้ที่ป่วยเป็นโรคเครียด โรคนอนไม่หลับ ก็มีโอกาสจะเป็นโรค Night eating syndrome ได้ด้วย
      
Night eating syndrome อาการเป็นยังไง

          ถ้าคุณมีพฤติกรรมหิวตอนดึก มักจะกินตอนกลางคืนอยู่บ้าง ลองมาฟันธงอีกสักนิดจากอาการ Night eating syndrome เหล่านี้

          1. ตื่นเช้ามาไม่ค่อยรู้สึกหิว แต่หลังมื้อเย็นนี่จัดหนักเลย

          2. บ่อยครั้งที่ไม่กินมื้อเช้า และระหว่างวันก็กินได้น้อยมาก

          3. นอนไม่ค่อยหลับ มักจะสะดุ้งตื่นมากินอาหารมากกว่า 3 ครั้งต่อคืน

          4. มีความคิดว่าถ้าไม่กินมื้อดึกอาจนอนไม่หลับ และถ้ากินมื้อดึกจะทำให้นอนหลับสบาย

          5. เคยละเมอมากินอาหารกลางดึกด้วย

          6. รู้สึกว่าการกินมื้อดึกคือวิธีคลายเครียดอย่างหนึ่ง


Night eating syndrome กระทบกับสุขภาพยังไง

          ด้วยพฤติกรรมการรับประทานอาหารตอนกลางคืน เราก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่าอาจจะทำให้อ้วนขึ้นได้ แต่นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านอื่น ๆ ที่ควรระวังดังนี้

          - กินมื้อดึกบ่อย ๆ แล้วเข้านอนอาจก่อให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือโรคกรดไหลย้อนได้

          - การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา โดยเฉพาะกับคนที่ไม่กินมื้อเช้า กลางวันก็ไม่ค่อยอยากกินอะไรเท่าไร อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงโรคกระเพาะได้

          - การสะดุ้งตื่นมากินอาหารบ่อยครั้งต่อคืน อาจทำให้ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ทำให้รู้สึกเพลียในตอนเช้า ลดประสิทธิภาพการทำงานของสมองและร่างกายในระยะยาว

          - อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง จากภาวะน้ำหนักเกิน


Night eating syndrome รักษาได้ไหม

          วิธีรักษา Night eating syndrome สามารถเยียวยาได้ทั้งทางพฤติกรรมและทางด้านจิตใจ โดยแพทย์อาจให้การรักษาดังวิธีต่อไปนี้

1. ปรับพฤติกรรมบริโภคใหม่ทั้งหมด

          ขั้นแรกอาจให้นักโภชนาการมาดูแลพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วย โดยจัดตารางรับประทานอาหารตามช่วงเวลาที่เป็นปกติ

2. ลดความเครียดลง

          ในกรณีที่วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยมีความเครียดจนทำให้นอนไม่หลับ และต้องกินมื้อดึกเพื่อระบายความเครียด แพทย์อาจโฟกัสไปที่การรักษาโรคเครียดด้วยยา หรือแนะนำวิธีแก้นอนไม่หลับอื่น ๆ ให้ผู้ป่วย

3. การรักษาด้วยวิธีจิตวิทยา

          จิตแพทย์จะเยียวยาอาการ Night eating syndrome ด้วยวิธี CBT (Cognitive behavior therapy) หรือการบำบัดด้วยการรับรู้และพฤติกรรม โดยให้ผู้ป่วยเผชิญกับสาเหตุของโรคด้วยตัวเอง เช่น หากกินมื้อดึกเพราะกลัวนอนไม่หลับ ก็จะให้เผชิญกับปัญหานอนไม่หลับ และหาวิธีแก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวเอง โดยไม่ใช้การกินมื้อดึกเป็นทางออก

4. รักษาด้วยฮอร์โมน

          บางเคสของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของฮอร์โมน ซึ่งแพทย์ก็จะทำการรักษาด้วยตัวยา หรือปรับระดับฮอร์โมนของคนไข้ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

          สำหรับคนที่ชอบกินมื้อดึกเป็นประจำ พยายามอย่าทำให้ตัวเองเคยชินกับการกินมื้อดึกจะดีกว่านะคะ เพราะพฤติกรรมนี้ของเราอาจพาให้เราป่วยโรค Night eating syndrome และกระทบกับสุขภาพด้านอื่น ๆ ได้ ดังนั้นพยายามใช้ชีวิตให้เป็นปกติ กินอาหารให้ครบ 3 มื้ออย่างตรงเวลาจะดีกว่า


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
prevention
Harvard University
webmd
weightlossresources