ชวนเด็ก ๆ มาเล่นกันเถอะ เชื่อไหมช่วยพัฒนาสมองได้ด้วย !


 การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นอีกต่อไป เมื่อผู้เชี่ยวชาญพบว่าช่วยพัฒนาสมอง

          มีการทดสอบโดยให้เด็กเดินบนเครื่องลู่วิ่งออกกำลังกายนาน 20 นาทีแล้วใช้เครื่องวัดคลื่นสมองตรวจดูพบว่าคลื่นสมองส่งสัญญาณถูกกระตุ้น หน่วยงานด้านสุขภาพในอังกฤษและอเมริกาถึงขนาดบอกตรงกันว่า การออกแรงขยับตัวอย่างเพียงพอ ทำให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้นร้อยละ 40 อีกทั้งยังช่วยพัฒนาได้ครบทุกมิติ คือ กาย ใจ และสังคม
  
          การเล่นมีประโยชน์ต่อเด็กถึงขนาดนี้ สสส. จึงจัดแคมเปญรณรงค์เพื่อบอกพ่อแม่ผู้ปกครองว่าต้องส่งเสริมให้ลูกหลานเล่น ยิ่งเล่นมากก็ยิ่งดีมาก นักวิชาการบอกว่าต้องเล่นให้ได้วันละ 60 นาที แต่ไม่ต้องต่อเนื่องก็ได้ เช่น แบ่งสามช่วง 10 นาทีก่อนเข้าเรียน 20 นาทีในระหว่างวัน และ 30 นาทีหลังเลิกเรียน

          ยิ่งไปกว่านั้น Childwise สถาบันวิจัยด้านเด็กและวัยรุ่นของอังกฤษทำวิจัยพบว่า เยาวชนใช้ชีวิตอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และดิจิตอลวันละ 6 – 8 ชั่วโมง ส่วนเด็กไทยวันละ 3.1 ชั่วโมง ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคซีวีเอส (Computer Vision Syndrome) ที่ทำให้ตาสั้นเพิ่มขึ้นถึง 30% แถมทำให้ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง มีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูงกว่า อีกทั้งมีพัฒนาการล่าช้า

          สสส. จึงเห็นว่าถึงเวลาที่ต้องบอกพ่อแม่ผู้ปกครองว่าต้องส่งเสริมให้เด็กเล่น เรื่องสำคัญคือ การเล่นในที่นี้เรียกว่า Active Play หมายถึงการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ซึ่งก็คือการใช้แขนขาเป็นหลักนั่นเองมี 3 แบบดังนี้
  
           เล่นคนเดียว ได้แก่ ม้าเขย่ง ม้าก้านกล้วย วิ่งเล่น ขว้างปา ห้อยโหน  ปีนป่าย กระโดด ขี่จักรยาน สเกตบอร์ด

           เล่นเป็นคู่ ได้แก่ ขว้างรับลูกบอล กระโดดเชือก เตะบอลไปมา แบดมินตัน  ปิงปอง กระโดดเชือก ขว้างรับลูกบอล แบดมินตัน ปิงปอง เทนนิส กิจกรรมต่อสู้ป้องกันตัว (เช่น มวยไทย เทควันโด ยูโด)

           เล่นเป็นกลุ่ม ได้แก่ เก้าอี้ดนตรี วิ่งเปี้ยว กระโดดเชือก ขี่จักรยานเที่ยวในหมู่บ้านหรือชุมชน ว่ายน้ำ กีฬาสากล เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล และวอลเลย์บอล หรือว่ายน้ำในสระ การเล่นของไทย หรือกีฬาไทย (ขี่ม้าส่งเมือง งูกินหางชักเย่อตี่จับตะกร้อวง เซปักตะกร้อ ฯลฯ)

          การเล่นแบบ Active Play ไม่ว่าจะเล่นเองคนเดียว เล่นเป็นกลุ่ม หรือเล่นแบบมีการกำหนดรูปแบบและกติกา ล้วนทำให้เด็กได้รับความสนุกสนาน และมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน

           1. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หรือเรียกว่าพัฒนาการทางสติปัญญา ในการเรียนรู้สาระวิชาการและทักษะดนตรี กีฬา ได้อีกด้วย

           2. ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) คือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการทางจิตใจ  ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น  เกิดทักษะสังคม และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นผ่านการเล่น

           3. ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) คือการเรียนรู้พัฒนาทักษะทางกาย ควบคุมบังคับการเคลื่อนไหว และเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย

          สรุปง่าย ๆ ว่า Active Play เป็นกิจกรรมที่มีศักยภาพเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งมิติกาย สมอง และสังคม

          รู้แบบนี้แล้วก็ต้องส่งเสริมให้บุตรหลานเล่นเยอะ ๆ ... เอ้า ออกมาเล่น
Cr Kapook